บูรณาการความสัมพันธ์ทั้ง 3 ประเทศมหาอำนาจที่มีต่อปานามา
ปานามาเป็นประเทศขนาดเล็กที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ นั่นก็คือ คลองปานามา ซึ่งเป็นความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่ออเมริกาใต้กับอเมริกาเหนือ และเชื่อมสองมหาสมุทร (แปซิฟิกกับแอตแลนติก) หรือเรียกว่าเป็น “สี่แยกของโลก” ที่จะเปิดประเทศสู่ภายนอก ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างให้ความสนใจ ทำให้อิทธิพลในบริเวณนี้มีประเทศมหาอำนาจที่สำคัญอยู่ 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน
ในความสัมพันธ์ระหว่างปานามากับประเทศมหาอำนาจทั้ง 3 สหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์กับปานามายาวนานที่สุด และถือเป็นประเทศแรกๆที่เข้ามาซื้อสัมปทานขุดคลองต่อจากประเทศฝรั่งเศส เพราะอเมริกาเล็งเห็นถึงความสำคัญของจุดยุทธศาสตร์ที่ปานามามี ทำให้เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าของสหรัฐอเมริกาไปยังทวีปต่างๆทั่วโลก อีกทั้งสหรัฐอเมริกายังได้เข้ามาลงทุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่งและสาธารณูปโภค ซึ่งถือเป็นการขยายอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจไปในตัว ส่วนความสัมพันธ์ของปานามาและรัสเซีย ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปานามากับสหภาพโซเวียตเคยยุติความสัมพันธ์ลง เนื่องจากปานามาหันไปสนับสนุนสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ปานามาจึงได้กลับมาสร้างความสัมพันธ์กับรัสเซียในฐานะรัฐผู้สืบทอดต่อสหภาพโซเวียต โดยทั้งสองได้มีความร่วมมือกันในด้านการค้าและเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม มนุษยธรรม ในส่วนความสัมพันธ์ของปานามาและจีน จีนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้ามากที่สุด โดยเริ่มจากการที่ชาวจีนรุ่นแรกที่เดินทางเข้ามาในปานามา ได้ช่วยสร้างทางรถไฟและขุดคลองปานามา จนมาสู่ในปัจจุบัน จีนพัฒนามาเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสองของปานามา เป็นประเทศใหญ่อันดับแรกในการส่งสินค้าที่จำเป็นให้แก่เขตการค้าเสรีโคลอน และปัจจุบันเป็นผู้ใช้บริการคลองปานามารายใหญ่อันดับสองของโลก ภายใต้กรอบความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่ปานามาได้ถูกเลือกเป็นประเทศแรกจากภูมิภาคละตินอเมริกาที่เข้าร่วม อีกทั้งปานามายังช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าของจีน ซึ่งการเข้าร่วมนี้ทำให้ปานามากลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าที่สำคัญต่อประเทศจีนและนานาประเทศ เกิดเป็นข้อตกลงความร่วมมือต่างๆตามา เช่น เศรษฐกิจ การค้า การเงิน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าในแง่ของดุลอำนาจ รอบปานามานั้นมีสามมหาอำนาจที่เข้ามามีอิทธิพลต่อปานามาไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ฉะนั้นการแสดงท่าทีของปานามาถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงในประเทศหรือแม้แต่การเมือง จะเห็นได้ว่าตลอดมาปานามาจะมีความสัมพันธ์กับอเมริกาอย่างยาวนาน แต่เมื่อมีประเทศจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเด่นชัดในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งผลต่อปานามาในหลายๆด้าน อีกทั้งผลประโยชน์ที่จีนได้หยิบยกมาให้นั้นทำให้ท่าที่ของปานามามีการเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นถึงดุลของอำนาจที่เปลี่ยนไป จากการที่ปานามาเคยไม่สนับสนุนจีนเดียว เนื่องจากต้องดำเนินการนโยบายที่สอดคล้องกับอเมริกา ปัจจุบันปานามาได้ยุติความสัมพันธ์กับไต้หวัน เพื่อมาสนับสนุนนโยบายจีนเดียว ท่าทีของปานามาแสดงให้เห็นว่าปานามาไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาแต่เพียงผู้เดียว บวกกับแรงชักจูงจากตลาดใหม่ๆ และตั้งแต่มีอเมริกันเฟิร์ส อเมริกาเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเทศแถบละตินอเมริกามานัก จึงเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้ท่าทีของปานามาเปลี่ยนไปโดยง่าย ส่วนประเทศรัสเซียนั้นนอกจากที่มาพร้อมกับประเทศสังคมนิยมเหมือนกันอย่างจีนในการมีส่วนสนับสนุนโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ก็ยังไม่ได้มีบทบาทมากมายนัก แต่ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าการที่รัสเซียจับมือกับประเทศจีน จะเป็นการเพิ่มอำนาจกดดันต่ออเมริกาสูงขึ้นหรือไม่ และหากอเมริกาถูกกดดันอย่างหนัก จากผลกระทบต่างๆ หรือแม้แต่การต้องรับมือการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น อเมริกาจะมีท่าทีต่อปานามาต่อไปอย่างไร เพราะปานามาเป็นพื้นที่ที่อเมริกาจำเป็นที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองไว้อย่างมาก ทั้งทางเศรษฐกิจและด้านภูมิศาสตร์ อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างปานามากับประเทศมหาอำนาจทั้ง 3 ประเทศ ต่างก็พึ่งพาอาศัยกันระหว่างประเทศ เน้นผลของตนเป็นหลัก ประนีประนอม โดยสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีนเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศตน ซึ่งและปานามาเองก็ได้รับผลประโยชน์จากการเปิดรับการเข้ามาของประเทศมหาอำนาจ เป็นไปตามทฤษฎีการพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependency Theory) โดยสองฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ก็เป็นเป็นช่องว่างให้ประเทศมหาอำนาจทั้ง 3 ประเทศเข้ามาเอาเปรียบปานามาได้